วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

ยุคแห่งการสำรวจทางทะเล (Age of Exploration)




วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น


       ในสมัยกลางสินค้าตะวันออกที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก และทำกำไรมหาศาลให้แก่พ่อค้า ได้แก่ ผ้าไหมจากจีน เครื่องเทศจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แร่ทองคำและเงินจากเอเชียกลาง เส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกต้องใช้เส้นทางทางบกเป็นเส้นทางหลัก ชาวยุโรปสามารถเดินทางไปตะวันออกโดยผ่านทางดินแดนตะวันออกกลาง เช่น มาร์โคโปโลเดินทางไปจีน แต่เส้นทางบกไม่ได้รับความนิยมจากชาวยุโรป สืบเนื่องมาจากสาเหตุ ดังนี้
  • การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีอันตราย
  • ตามเส้นทางมีการกีดกันทางด้านการค้าของเมืองต่างๆ
    ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่ผ่าน
  • เส้นทางการเดินทางมีระยะไกลมากทำให้มีกำไรน้อย
  • ตามเส้นทางการเดินทางถูกควบคุมโดยจักรวรรดิอิสลาม
    ที่เป็นศัตรูกับชาวยุโรป




        ใน ค.ศ. 1453 พวกมุสลิมสามารถยึดครองเมือง  คอนสแตนติโนเปิล และจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ทั้งหมด ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการค้าทางบกระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

        ความต้องการทางการค้า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกพยายามที่จะหาเส้นทางการค้าทางทะเลแทนการค้าทางบกที่พวกมุสลิมยึดครองไว้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ชาวยุโรปพยายามหาเส้นทางทางทะเล
        เริ่มด้วยโปรตุเกส โดยเจ้าชายเฮนรีราชนาวิก ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชนาวีขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการใหม่ๆ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทะเล
ในช่วงเวลานี้เทคโนโลยีด้านการเดินเรือ เช่น ความรู้ในเรื่องการใช้เข็มทิศ การใช้กล้องส่องทางไกลและการดูดาว มีการพัฒนาเทคนิครูปทรงและขนาดของเรือให้มีประสิทธิภาพในการเดินเรือทะเลเพิ่มขึ้น เป็นผลให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสามารถเดินเรือมาจนถึงทางใต้ของทวีปแอฟริกา ยุโรปจึงเข้าสู่ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ
        ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 หลายชาติในยุโรปมีการเดินทางรอบโลกเพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ทางทะเล ทำให้พบดินแดนและแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
        นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เริ่มต้นการเดินทางไกลในทะเลเพื่อไปยังดินแดนใหม่ๆ ของโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายเฮนรี เริ่มต้นด้วยการเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก ค้นพบเกาะมาเดย์รา (Madeira) เมื่อ ค.ศ. 1419 และหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) เมื่อ ค.ศ. 1427 ต่อมาทั้งเกาะมาเดย์ราและอะโซร์สเป็นเมืองอาณานิคมของโปรตุเกส การสำรวจครั้งสำคัญของเจ้าชายเฮนรีแห่งโปรตุเกส คือ การเดินทางไปยังดินแดนทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ชาวโปรตุเกสพัฒนาความก้าวหน้าด้านการเดินเรือไปอย่างช้าๆ





       ใน ค.ศ. 1482 ดีโอโก กาโอ เดินทางไปจนถึงอาณาจักรคองโก การค้นพบครั้งสำคัญ คือ การเล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกาจนถึงแหลมกู๊ดโฮปของ บาร์โธโลมิวไดแอส ซึ่งได้พิสูจน์ว่าการไปถึงมหาสมุทรอินเดียเป็นไปได้ ทำให้ วาสโก ดา กามา ได้เดินทางไปถึงเมืองกาลิกัตของอินเดีย ในระยะเวลาต่อมาก็มีการสำรวจพบดินแดนใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ชาวยุโรปค้นพบทวีปต่างๆ ทางทะเลเกือบทั้งหมด
        นักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนพบเส้นทางไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกหรืออีสต์อินดิส เพื่อหาแหล่งเครื่องเทศและพริกไทย การสำรวจครั้งสำคัญมาจากการเดินทางของนักสำรวจหลายๆ คน เช่น
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวเมืองเจนัวของอิตาลี ได้อาสาเดินเรือให้กษัตริย์สเปนเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและค้นพบทวีปอเมริกาโดยบังเอิญ ดินแดนที่พบคือหมู่เกาะเวสต์อินดีส
ในทวีปอเมริกา ทำให้สเปนควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของโลกใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยแร่ทองคำและแร่เงิน
        เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสซึ่งรับอาสากษัตริย์สเปน ได้ประสบผลสำเร็จในการเดินทางรอบโลก โดยออกค้นหาเส้นทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านช่องแคบทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก สู่หมู่เกาะเครื่องเทศได้สำเร็จ ถึงแม้ว่ามาเจลลันเสียชีวิตที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ แต่ผู้ช่วยของมาเจลลันสามารถ
นำเรือลำนั้นกลับถึงสเปนทางมหาสมุทรอินเดียได้ ทำให้การเดินทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

        ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงแห่งการแข่งขันอำนาจทางทะเลระหว่างสเปนกับโปรตุเกส สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้ให้สเปนและโปรตุเกสทำสัญญาทอร์เดซียัส โดยให้สเปนมีสิทธิในการสำรวจและยึดครองดินแดนทางด้านตะวันตก ส่วนโปรตุเกสได้สิทธิทางด้านตะวันออก สนธิสัญญาดังกล่าวนี้นำไปสู่การยึดครองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม
สเปน สามารถยึดครองโปรตุเกสได้ใน ค.ศ. 1580 ทำให้โปรตุเกสตกอยู่ใต้อำนาจสเปนจนถึง ค.ศ. 1640 การแข่งขันทางทะเล
ระหว่างสเปนกับโปรตุเกสจึงสิ้นสุดลง
ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจเส้นทางการค้าทางทะเล เดิมชาวดัตช์ (Dutch) ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าเครื่องเทศแถบยุโรป ภายหลังจากที่ฮอลันดาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนและพัฒนากองเรือให้เข้มแข็งได้ ก็สามารถแย่งชิงเส้นทางการค้าจากโปรตุเกสได้สำเร็จ
 อังกฤษ ในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 เป็นยุคสำคัญแห่งการสำรวจและการขยายอำนาจของอังกฤษ สามารถทำสงครามชนะกองเรืออันแข็งแกร่งของสเปน ทำให้อังกฤษเริ่มหาอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเลโดยเข้าไปมีบทบาทในการค้าแถบเอเชีย ต่อมาอังกฤษก็สามารถมีอำนาจทางทะเลเหนือโปรตุเกส มีอิทธิพลในอินเดียและอ่าวเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนอังกฤษกลายเป็นคู่แข่งทางการค้ากับฮอลันดา
 ฝรั่งเศส เริ่มต้นสำรวจอเมริกาเหนือ
เมื่อสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเข้าสู่อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ได้สำเร็จ ชาวฝรั่งเศสก่อตั้งชุมชนถาวรเป็นแห่งแรกที่ควิเบก
แต่ต้องแข่งขันการค้าขนสัตว์กับอังกฤษมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็สามารถขยายดินแดนไปจนถึงเขตลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และแม่น้ำสาขา สามารถตั้งอาณานิคมลุยเซียนาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
แต่ในท้ายที่สุดลุยเซียนาต้องตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษเพราะฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามและต้องทำตามสนธิสัญญา ใน ค.ศ. 1713
ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจตลอดเวลา จนกระทั่งมีการเจรจาสันติภาพใน ค.ศ. 1763 ฝรั่งเศสยอมยกแคนาดารวมทั้งดินแดนลุยเซียนาทั้งหมดที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ยกเมืองนิวออร์ลีนส์และลุยเซียนาส่วนตะวันตกให้แก่สเปน




        ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 นี้ มีการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการต่อเรือเพื่อสามารถเดินทางได้ไกลและปลอดภัยยิ่งขึ้น มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงสามารถเข้าไปยังดินแดนภายในของทวีปอเมริกาเหนือและทวีปแอฟริกา


ผลกระทบของการสำรวจทางทะเลที่สำคัญ

        ด้านการเมืองการปกครอง


        ประเทศในยุโรปมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่ง
ได้ครอบครองดินแดนและทรัพยากรของอาณานิคมในทวีปแอฟริกา เอเชีย อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มหาอำนาจยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลก การแข่งขันกันขยายอาณานิคม ทำให้เกิดการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามโลกในที่สุด

        ด้านสังคมและเศรษฐกิจ


        การสำรวจทางทะเลทำให้ระบบเศรษฐกิจในยุโรปเปลี่ยนแปลงเพราะการขยายตัวทางการค้าส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการใช้เงินตรา ระบบธนาคาร ระบบการให้สินเชื่ออย่างกว้างขวาง พ่อค้าและนายทุนรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทโดยมีกษัตริย์ให้ความสนับสนุน ทำให้พ่อค้าและนายทุนมีฐานะมั่นคงและมีบทบาททางด้านการเมืองเพิ่มมากขึ้น ศูนย์กลางการค้าที่เคยอยู่ในเมืองท่าของคาบสมุทรอิตาลี ได้เปลี่ยนเป็นเมืองท่าของโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

  1. อารยธรรมยุโรปได้แผ่ขยายไปสู่ดินแดนต่างๆ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้าง ภาษา อาหาร การแต่งกาย ระบบการปกครอง และศิลปกรรมตะวันตก
  2. ชาวยุโรปรับวัฒนธรรมจากดินแดนต่างๆ เช่น ศิลปะจีนและมุสลิมอาหรับ
  3. เกิดการแพร่กระจายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เช่น ชาวยุโรปได้นำกาแฟจากตะวันออกกลางมาปลูกที่เกาะชวาและอเมริกาใต้ มันฝรั่งและข้าวโพดจากทวีปอเมริกามาปลูกที่ยุโรป
  4. ศาสนาคริสต์ได้แผ่ขยายไปในดินแดนอาณานิคมต่างๆ โดยชาวยุโรปใช้ทั้งสันติวิธีและวิธีการที่รุนแรงเพื่อบังคับให้ชาวพื้นเมืองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
  5. มีการนำทาสหรือคนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคมที่ด้อยความเจริญมาเป็นแรงงานในเหมืองแร่และไร่ขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาและยุโรปทำให้เกิดปัญหาสังคมสืบจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ทดสอบ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น         กา...