วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

สงครามโลกครั้งที่ 1



วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น

      เป็นสงครามที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจของยุโรป 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอิตาลี กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ในระหว่างสงครามแต่ละฝ่ายต่างมีประเทศร่วมเป็นพันธมิตรด้วย

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1

    1.  ลัทธิชาตินิยม

              ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดชาตินิยมหรือความเป็นชาติ หมายถึง ความรักชาติเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชนชั้นกลางเข้ามามีบทบาททางการเมือง การปกครอง ต้องการพัฒนาชาติของตนให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งการปฏิวัติของชาวอเมริกันที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ และการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ส่งเสริมให้ความเป็นชาติเกิดขึ้น และต้องการพัฒนาชาติของตนให้เจริญก้าวหน้า
               ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จักวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนได้ล่มสลายลง ทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในยุโรป บางจักรวรรดิมีคนหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน เช่น จักรวรรดิออสเตรีย มีทั้งชนชาติเยอรมัน โปแลนด์ อิตาเลียน เช็ก สโลวัก สลาฟ แมกยาร์ และยิว ส่วนบางชนชาติถูกแยกไปอยู่ต่างอาณาจักรกัน ทำให้เกิดความต้องการแยกเป็นเอกราชตามกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งได้นำไปสู่การทำสงครามระหว่างกัน เช่น สงครามอิสรภาพกรีก การรวมชาติอิตาลี การรวมชาติเยอรมัน ดังนั้นหลายเชื้อชาติที่ยังอยู่รวมกับเชื้อชาติอื่นหรือตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างเชื้อชาติ จึงมีความพยายามที่จะแยกดินแดนเป็นเอกราช ในดินแดนอาณานิคม ชาวอาณานิคมที่ได้รับการศึกษา เห็นว่าประเทศจักรวรรดินิยมได้กอบโกยความมั่งคั่งจากประเทศของตน ขณะที่ชาวอาณานิคมอยู่อย่างแร้นแค้น จึงต่อต้านเมืองแม่ และปลุกกระแสประชานิยมในหมู่ประชาชน

    2.  การแข่งขันในยุคจักรวรรดินิยม

               ในยุคจักรวรรดินิยม มหาอำนาจตะวันตกต่างแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม จึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างประเทศหลายครั้งเพื่อแย่งชิงดินแดน และผลประโยชน์ในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ทั้งประเทศตะวันตกกับประเทศอาณานิคม และระหว่างประเทศตะวันตกด้วยกันเอง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันสะสมอาวุธ และเสริมสร้างแสนยานุภาพทางบก และทางเรือ สร้างฐานที่มั่นทางการทหารตามจุดยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นฐานทัพคอยปกป้องอาณานิคมของตนซึ่งเป็นผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างหวาดระแวง และเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม

    3.  ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจกับชาติมหาอำนาจ

               ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีสาเหตุมาจากการแข่งขันกันทางการเมืองที่จะเป็นผู้นำ และแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เช่น
                -  สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย เกิดจากการที่ฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้เยอรมนีรวมชาติ เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อฝรั่งเศส ผลของสงครามคือ ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต้องทำสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt) ต้องสูญเสียดินแดนอัลซาซ-ลอเรน (Alsace-Lorraine) ที่อุดมด้วยแร่เหล็ก และจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก

                -  ความขัดแย้งระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซียในการขยายอิทธิพลในดินแดนยุโรปตะวันออกและแหลมบอลข่าน เนื่องจากออสเตรียครอบครองฮังการี ทรานซิลเวเนีย โครเอเชียและสลาโวเนีย สิทธิในการคุ้มครองคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ และมีนโยบายรวมกลุ่มสลาฟ เรียกว่า “อุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ” (Pan-Slavism) ดังนั้นเมื่อพวกสลาฟในบอสเนียได้ก่อกบฏขึ้น รัสเซียจึงประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน สงครามยุติลงโดยรัสเซียเป็นฝ่ายชนะ ต่อมาออสเตรีย-ฮังการี ผนวก  ดินแดนที่มีชาวสลาฟใน 2 แคว้น คือ บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีเป็นของตน เซอร์เบีย และรัสเซียจึงยุยงให้พวกสลาฟ  ก่อกบฏขึ้น เกิดวิกฤตการณ์บอสเนียขึ้น และหลังจากการเจรจาวิกฤตการณ์จึงสิ้นสุดลง แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงมีอยู่

                -  ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี เกิดขึ้นเนื่องจากเยอรมนีเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหารเพิ่มขึ้น

    4.  มหาอำนาจแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

               ความขัดแย้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจทำให้ชาติมหาอำนาจทางตะวันตกต่างแสวงหาพันธมิตร เริ่มด้วยเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการี ได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีทวิภาคี โดยทั้งคู่สัญญาว่าจะช่วยเหลือกันและกัน หากถูกอดีตสหภาพโซเวียตโจมตี สัญญาฉบับนี้ขยับเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคี โดยรวมอิตาลีเข้ามาด้วย กลุ่มพันธมิตรนี้ต่อมาเรียกว่า มหาอำนาจกลางเพราะประเทศสมาชิกตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ส่วนอดีตสหภาพโซเวียตกับฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร เพราะต่างเกรงว่าเยอรมนีจะเข้าข้างออสเตรีย-ฮังการี ที่กำลังแข่งขันอำนาจกับอดีตสหภาพโซเวียต อนุสัญญานี้ได้ขยายเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีกับฝรั่งเศส-รัสเซีย อังกฤษทำสัญญาความตกลงไตรภาคีระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย กลุ่มพันธมิตรนี้ถูกเรียกว่าฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร (ฝ่ายสัมพันธมิตร) ในสงครามโลกครั้งที่ 1

สาเหตุและชนวนสงคราม

        เกิดจากความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่มีมูลเหตุมาจากลัทธิชาตินิยมของชนชาติต่าง ๆ การแข่งขันแสวงหาอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจยุโรป และการที่มหาอำนาจแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน
        โดยชนวนสงครามเกิดเมื่อรัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี คือ อาร์ชดยุค ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์    ถูกลอบปลงพระชนม์ที่กรุงซาราเยโวในบอสเนีย ทำให้ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ส่งผลให้รัสเซียเข้าช่วยเซอร์เบีย ต่อมาเยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษก็ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัมพันธมิตรของตนคือเข้าร่วมกับรัสเซีย เยอรมนียกทัพบุกเบลเยียมเพื่อโจมตีฝรั่งเศส นอกจากนี้ลัทธิการทหารทำให้ประเทศต่าง ๆ พยายามสะสมอาวุธ รวมทั้งประชาชาติต่าง ๆ พยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด และใช้สงครามในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

       การรวมกลุ่มพันธมิตรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

        1.  กลุ่มไตรพันธมิตร ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี (ในระหว่างสงครามนั้น อิตาลีได้ประกาศตัวเป็นกลาง) ผู้นำสำคัญคือ บิสมาร์คแห่งเยอรมนี เรียกว่า กลุ่มมหาอำนาจกลาง
        2.  กลุ่มไตรภาคี ประกอบด้วย รัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ เรียกว่า กลุ่มมหาอำนาจตะวันตก
        สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ขยายออกไปทั่วโลก ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอมนีเพื่อหวังจะได้ครอบครองอาณานิคมของเยอรมนีในมหาสมุทรแปซิฟิก ตุรกีได้เข้าร่วมกับมหาอำนาจกลาง อีก 1 ปี ต่อมาบัลแกเรียก็เข้าข้างเยอรมนี กลุ่มประเทศบอลข่านเข้ากับประเทศฝ่ายตะวันตก สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกตะวันตกได้เข้าร่วมสงคราม เพื่อช่วยฝ่ายประชาธิปไตย คือ อังกฤษและฝรั่งเศส





        จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในครั้งนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไตรพันธมิตรหรือมหาอำนาจกลางมาก่อน แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นอิตาลีได้ประกาศนโยบายความเป็นกลาง แต่ต่อมาภายหลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้สัญญากับอิตาลีว่าจะยกพื้นที่บางส่วนของออสเตรีย-ฮังการีให้ (ดินแดนไทรอลใต้ จูเลีย-  สมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งของดัลมาเทีย) หากอิตาลีเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายตน ทำให้อิตาลีกลับ  ตัดสินใจประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2458 ความตกลงระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับอิตาลีครั้งนี้ทำให้เกิดการลงนามใน “สนธิสัญญาลอนดอน” ขึ้น และในที่สุดอิตาลีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมกับฝรั่งเศส-รัสเซีย อังกฤษ

การสร้างสันติภาพภายหลังสงครามครั้งที่ 1

        ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ที่ประกอบด้วย เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึก เรียกว่า “สนธิแวร์ซายส์” โดยมีเงื่อนไขหลายประการดังนี้
        1.  ดินแดน ฝ่ายพ่ายแพ้ต้องสูญเสียดินแดนและอาณานิคม
        2.  การทหาร ฝ่ายพ่ายแพ้สงครามถูกลดกำลังทหารและจำกัดอาวุธยุทโธปกรณ์
        3.  เศรษฐกิจ ฝ่ายพ่ายแพ้ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก
        ผลจากการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ทำให้เกิดประเทศใหม่ เช่น โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และยูโกสลาเวีย อิตาลีได้รับดินแดนเพิ่ม ออสเตรียและฮังการีถูกลดอาวุธ และชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม บัลแกเรียต้องเสียดินแดน ถูกปลดอาวุธ และต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม นอกจากนี้การปกครองแบบประชาธิปไตยแพร่หลายมากขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญในโลก การเคลื่อนไหวแบบสันติได้ดำเนินไปโดยการก่อตั้งสันนิบาตชาติ และศาลโลก แต่องค์การเหล่านี้ต้องล้มเหลว ไม่สามารถที่จะธำรงสันติภาพไว้ได้

        สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจต่อยุโรปหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียกำลังคน และสถานที่ต่าง ๆ ถูกทำลาย ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต้องเก็บภาษีอย่างหนักเพื่อบูรณะประเทศหลังสงครามเสร็จสิ้น การตั้งรัฐใหม่ในยุโรป ทำให้การค้าโลกต้องล่มจม ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทางยุโรป ส่วนทางด้านสังคม มีการเสียชีวิต การบาดเจ็บ การถูกจับ การสูญหาย รวมทั้งเกิดปัญหาความยากจน ความหิว และโรคระบาดไปทั่งทั้งยุโรป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ทดสอบ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น         กา...