วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance)


วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น




        การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หมายถึง การฟื้นฟูความรู้ด้านศิลปวิทยาการและภูมิปัญญาของกรีกและโรมันซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่นครรัฐต่างๆในอิตาลี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ต่อมาได้ขยายตัวไปสู่ฝรั่งเศส เยอรมณี อังกฤษ สเปน และฮอลันดา ตามลำดับ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ชาวตะวันตกหลุดพ้นจากอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและขุนนาง แล้วหันมาสนใจงานด้านศิลปะและวิทยาการแทน


  สาเหตุของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

  • การฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้า ทำให้ยุโรปโดยเฉพาะอิตาลีเจริญมั่งคั่งมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้ความคิดของชาวยุโรปที่มีต่อกฏข้อบังคับของคริสต์ศาสนาเปลี่ยนไปและเริ่มเข้าใจว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองได้ ชาวอิตาลีได้หันความสนใจปัจเจกชนนิยมและคติทางโลก
  • นอกจากนี้ยังเกิดความเสื่อมศรัทธาในสถาบันคริสต์ศาสนา เพราะพบเห็นการซื้อขายตำแหน่งสมณศักดิ์ของบาทหลวง ความเป็นอยู่ที่หรูหราและฟุ่มเฟือยของบาทหลวง ประกอบกับการรับวัฒนธรรมตะวันออกในสงครามครูเสดทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้งานเขียนและวรรณกรรมของกรีกและโรมันโบราณกันอย่างกว้างขวาง
  • ผู้ที่สนใจศึกษางานคลาสสิคของสมัยโบราณเรียกว่า
    พวกมนุษยนิยม (Humanist) ซึ่งเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีสติปัญญา ความสามารถและความมีเหตุผล เน้นการสร้างความสุขและความสำเร็จของชีวิตด้วยตนเอง อันเป็นค่านิยมแบบใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเจ้านครในอิตาลี เช่น ฟลอเรนซ์
    โรม และเวนิส ทำให้มีการนำวรรณกรรมและปรัชญา
    ของกรีกแปลเป็นภาษาละตินเผยแพร่ในยุโรปได้กว้างขวางมากขึ้น

ผลงานในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ

        ด้านศิลปกรรม


        ผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมได้สืบทอดความนิยมของศิลปะแบบคลาสสิคของกรีกและโรมันที่สร้างศิลปะเป็นธรรมชาติคือ การให้ความสนใจต่อความสวยงามของสรีระของมนุษย์ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ศาสนาและเทพนิยายดั้งเดิมเป็นเค้าเรื่อง แต่ได้บรรยายด้วยทัศนะและวิธีการของโลกสามัญธรรมดา สิ่งเหล่านี้แสดงออกอย่างเด่นชัดมากในงานของจิตรกรชาวอิตาลี เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี (Michelangelo Buonarroti) และราฟาเอล ซันซีโอ (Raphael Sanzio)



        ลีโอนาร์โด ดาวินชี ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาศิลปิน” เนื่องจากเป็นศิลปินที่มีความรู้ในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยนำความรู้ด้านต่างๆ มาถ่ายทอดในงานจิตรกรรมได้เป็นอย่างดี ผลงานที่สำคัญ ได้แก่
ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper )
ภาพโมนา ลิซา (Mona Lisa)

        มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี เป็นศิลปินที่โด่งดังด้านประติมากรรม ผลงานที่สำคัญเป็นรูปสลักผู้ชายแสดงสัดส่วนของกล้ามเนื้อร่างกาย เช่น รูปสลักเดวิด (David) รูปสลักลาปิเอตา (La Pieta)
ซึ่งเป็นรูปสลักพระมารดากำลังประคองพระเยซู หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว และจิตรกรรมฝาผนังที่เพดานและฝาผนังของโบสถ์ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์

        ด้านวรรณกรรม




        วรรณกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีกรีก-โรมันผ่านมาทางอิตาลีและแผ่ขยายไปในประเทศต่างๆ ในยุโรป นักเขียนสมัยนื้ได้ยึดแนวทางมนุษยนิยม ใช้ภาษาละตินสะท้อนความคิดต่อต้านแนวคิดขนบนิยมของคริสต์ศาสนา ผสมผสานกับแนวคิดปรัชญากรีก-โรมัน


        งานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดในการต่อต้านคริสต์ศาสนาหรือแสดงออกถึงปรัชญาทางการเมือง เช่น
  • เรื่องเดคาเมรอน (Decameron) ของโจวันนี บอกกัชโซ (Giovanni Boccaccio) เป็นเรื่องเสียดสีสังคม
  • เรื่องเจ้าผู้ปกครอง (The Prince) ของนิคโคโล
    มาเคียวัลลี (Niccol Machiaveli) ซึ่งอธิบายลักษณะของผู้ปกครองว่าต้องมีอำนาจและใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครอง
  • เรื่องยูโทเปีย (Utopia) ของเซอร์โทมัส มอร์
    (Sir Thomas More) กล่าวถึงเมืองในอุดมคติที่มนุษย์ในสังคมมีความสุข

        ส่วนงานบทละครนั้นได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน นักประพันธ์คนสำคัญ คือ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ผู้แต่งเรื่องโรมิโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) และเวนิสวาณิช (the merchant of Vinice) ซึ่งเป็นบทละครที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์และความรู้สึก

ผลกระทบของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ




        การฟื้นฟูศิลปวิทยาการมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การปกครองของยุโรปเป็นอย่างมาก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้หลักเหตุผลแทนความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาในเวลาต่อมา


       นอกจากนี้ชาวยุโรปยังแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้การศึกษาขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในยุโรป มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญ คือ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ทำให้ความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง
แพร่หลายไปทั่วยุโรป การประดิษฐ์เข็มทิศและอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะปืนใหญ่ ทำให้ยุโรปก้าวเข้าสู่การแสวงหาดินแดนในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาเป็นอาณานิคม รวมทั้งทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคแห่งการสำรวจทางทะเล (Age of Exploration)




วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น


       ในสมัยกลางสินค้าตะวันออกที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก และทำกำไรมหาศาลให้แก่พ่อค้า ได้แก่ ผ้าไหมจากจีน เครื่องเทศจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แร่ทองคำและเงินจากเอเชียกลาง เส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกต้องใช้เส้นทางทางบกเป็นเส้นทางหลัก ชาวยุโรปสามารถเดินทางไปตะวันออกโดยผ่านทางดินแดนตะวันออกกลาง เช่น มาร์โคโปโลเดินทางไปจีน แต่เส้นทางบกไม่ได้รับความนิยมจากชาวยุโรป สืบเนื่องมาจากสาเหตุ ดังนี้
  • การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีอันตราย
  • ตามเส้นทางมีการกีดกันทางด้านการค้าของเมืองต่างๆ
    ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่ผ่าน
  • เส้นทางการเดินทางมีระยะไกลมากทำให้มีกำไรน้อย
  • ตามเส้นทางการเดินทางถูกควบคุมโดยจักรวรรดิอิสลาม
    ที่เป็นศัตรูกับชาวยุโรป




        ใน ค.ศ. 1453 พวกมุสลิมสามารถยึดครองเมือง  คอนสแตนติโนเปิล และจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ทั้งหมด ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการค้าทางบกระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

        ความต้องการทางการค้า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกพยายามที่จะหาเส้นทางการค้าทางทะเลแทนการค้าทางบกที่พวกมุสลิมยึดครองไว้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ชาวยุโรปพยายามหาเส้นทางทางทะเล
        เริ่มด้วยโปรตุเกส โดยเจ้าชายเฮนรีราชนาวิก ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชนาวีขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการใหม่ๆ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทะเล
ในช่วงเวลานี้เทคโนโลยีด้านการเดินเรือ เช่น ความรู้ในเรื่องการใช้เข็มทิศ การใช้กล้องส่องทางไกลและการดูดาว มีการพัฒนาเทคนิครูปทรงและขนาดของเรือให้มีประสิทธิภาพในการเดินเรือทะเลเพิ่มขึ้น เป็นผลให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสามารถเดินเรือมาจนถึงทางใต้ของทวีปแอฟริกา ยุโรปจึงเข้าสู่ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ
        ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 หลายชาติในยุโรปมีการเดินทางรอบโลกเพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ทางทะเล ทำให้พบดินแดนและแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
        นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เริ่มต้นการเดินทางไกลในทะเลเพื่อไปยังดินแดนใหม่ๆ ของโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายเฮนรี เริ่มต้นด้วยการเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก ค้นพบเกาะมาเดย์รา (Madeira) เมื่อ ค.ศ. 1419 และหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) เมื่อ ค.ศ. 1427 ต่อมาทั้งเกาะมาเดย์ราและอะโซร์สเป็นเมืองอาณานิคมของโปรตุเกส การสำรวจครั้งสำคัญของเจ้าชายเฮนรีแห่งโปรตุเกส คือ การเดินทางไปยังดินแดนทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ชาวโปรตุเกสพัฒนาความก้าวหน้าด้านการเดินเรือไปอย่างช้าๆ





       ใน ค.ศ. 1482 ดีโอโก กาโอ เดินทางไปจนถึงอาณาจักรคองโก การค้นพบครั้งสำคัญ คือ การเล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกาจนถึงแหลมกู๊ดโฮปของ บาร์โธโลมิวไดแอส ซึ่งได้พิสูจน์ว่าการไปถึงมหาสมุทรอินเดียเป็นไปได้ ทำให้ วาสโก ดา กามา ได้เดินทางไปถึงเมืองกาลิกัตของอินเดีย ในระยะเวลาต่อมาก็มีการสำรวจพบดินแดนใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ชาวยุโรปค้นพบทวีปต่างๆ ทางทะเลเกือบทั้งหมด
        นักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนพบเส้นทางไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกหรืออีสต์อินดิส เพื่อหาแหล่งเครื่องเทศและพริกไทย การสำรวจครั้งสำคัญมาจากการเดินทางของนักสำรวจหลายๆ คน เช่น
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวเมืองเจนัวของอิตาลี ได้อาสาเดินเรือให้กษัตริย์สเปนเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและค้นพบทวีปอเมริกาโดยบังเอิญ ดินแดนที่พบคือหมู่เกาะเวสต์อินดีส
ในทวีปอเมริกา ทำให้สเปนควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของโลกใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยแร่ทองคำและแร่เงิน
        เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสซึ่งรับอาสากษัตริย์สเปน ได้ประสบผลสำเร็จในการเดินทางรอบโลก โดยออกค้นหาเส้นทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านช่องแคบทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก สู่หมู่เกาะเครื่องเทศได้สำเร็จ ถึงแม้ว่ามาเจลลันเสียชีวิตที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ แต่ผู้ช่วยของมาเจลลันสามารถ
นำเรือลำนั้นกลับถึงสเปนทางมหาสมุทรอินเดียได้ ทำให้การเดินทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

        ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงแห่งการแข่งขันอำนาจทางทะเลระหว่างสเปนกับโปรตุเกส สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้ให้สเปนและโปรตุเกสทำสัญญาทอร์เดซียัส โดยให้สเปนมีสิทธิในการสำรวจและยึดครองดินแดนทางด้านตะวันตก ส่วนโปรตุเกสได้สิทธิทางด้านตะวันออก สนธิสัญญาดังกล่าวนี้นำไปสู่การยึดครองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม
สเปน สามารถยึดครองโปรตุเกสได้ใน ค.ศ. 1580 ทำให้โปรตุเกสตกอยู่ใต้อำนาจสเปนจนถึง ค.ศ. 1640 การแข่งขันทางทะเล
ระหว่างสเปนกับโปรตุเกสจึงสิ้นสุดลง
ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจเส้นทางการค้าทางทะเล เดิมชาวดัตช์ (Dutch) ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าเครื่องเทศแถบยุโรป ภายหลังจากที่ฮอลันดาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนและพัฒนากองเรือให้เข้มแข็งได้ ก็สามารถแย่งชิงเส้นทางการค้าจากโปรตุเกสได้สำเร็จ
 อังกฤษ ในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 เป็นยุคสำคัญแห่งการสำรวจและการขยายอำนาจของอังกฤษ สามารถทำสงครามชนะกองเรืออันแข็งแกร่งของสเปน ทำให้อังกฤษเริ่มหาอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเลโดยเข้าไปมีบทบาทในการค้าแถบเอเชีย ต่อมาอังกฤษก็สามารถมีอำนาจทางทะเลเหนือโปรตุเกส มีอิทธิพลในอินเดียและอ่าวเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนอังกฤษกลายเป็นคู่แข่งทางการค้ากับฮอลันดา
 ฝรั่งเศส เริ่มต้นสำรวจอเมริกาเหนือ
เมื่อสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเข้าสู่อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ได้สำเร็จ ชาวฝรั่งเศสก่อตั้งชุมชนถาวรเป็นแห่งแรกที่ควิเบก
แต่ต้องแข่งขันการค้าขนสัตว์กับอังกฤษมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็สามารถขยายดินแดนไปจนถึงเขตลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และแม่น้ำสาขา สามารถตั้งอาณานิคมลุยเซียนาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
แต่ในท้ายที่สุดลุยเซียนาต้องตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษเพราะฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามและต้องทำตามสนธิสัญญา ใน ค.ศ. 1713
ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจตลอดเวลา จนกระทั่งมีการเจรจาสันติภาพใน ค.ศ. 1763 ฝรั่งเศสยอมยกแคนาดารวมทั้งดินแดนลุยเซียนาทั้งหมดที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ยกเมืองนิวออร์ลีนส์และลุยเซียนาส่วนตะวันตกให้แก่สเปน




        ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 นี้ มีการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการต่อเรือเพื่อสามารถเดินทางได้ไกลและปลอดภัยยิ่งขึ้น มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงสามารถเข้าไปยังดินแดนภายในของทวีปอเมริกาเหนือและทวีปแอฟริกา


ผลกระทบของการสำรวจทางทะเลที่สำคัญ

        ด้านการเมืองการปกครอง


        ประเทศในยุโรปมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่ง
ได้ครอบครองดินแดนและทรัพยากรของอาณานิคมในทวีปแอฟริกา เอเชีย อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มหาอำนาจยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลก การแข่งขันกันขยายอาณานิคม ทำให้เกิดการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามโลกในที่สุด

        ด้านสังคมและเศรษฐกิจ


        การสำรวจทางทะเลทำให้ระบบเศรษฐกิจในยุโรปเปลี่ยนแปลงเพราะการขยายตัวทางการค้าส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการใช้เงินตรา ระบบธนาคาร ระบบการให้สินเชื่ออย่างกว้างขวาง พ่อค้าและนายทุนรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทโดยมีกษัตริย์ให้ความสนับสนุน ทำให้พ่อค้าและนายทุนมีฐานะมั่นคงและมีบทบาททางด้านการเมืองเพิ่มมากขึ้น ศูนย์กลางการค้าที่เคยอยู่ในเมืองท่าของคาบสมุทรอิตาลี ได้เปลี่ยนเป็นเมืองท่าของโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

  1. อารยธรรมยุโรปได้แผ่ขยายไปสู่ดินแดนต่างๆ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้าง ภาษา อาหาร การแต่งกาย ระบบการปกครอง และศิลปกรรมตะวันตก
  2. ชาวยุโรปรับวัฒนธรรมจากดินแดนต่างๆ เช่น ศิลปะจีนและมุสลิมอาหรับ
  3. เกิดการแพร่กระจายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เช่น ชาวยุโรปได้นำกาแฟจากตะวันออกกลางมาปลูกที่เกาะชวาและอเมริกาใต้ มันฝรั่งและข้าวโพดจากทวีปอเมริกามาปลูกที่ยุโรป
  4. ศาสนาคริสต์ได้แผ่ขยายไปในดินแดนอาณานิคมต่างๆ โดยชาวยุโรปใช้ทั้งสันติวิธีและวิธีการที่รุนแรงเพื่อบังคับให้ชาวพื้นเมืองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
  5. มีการนำทาสหรือคนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคมที่ด้อยความเจริญมาเป็นแรงงานในเหมืองแร่และไร่ขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาและยุโรปทำให้เกิดปัญหาสังคมสืบจนถึงปัจจุบัน

สงครามโลกครั้งที่ 2


วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น

สาเหตุและชนวนสงคราม

        ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง โดยภาพรวมแล้วสนธิสัญญาสงบศึกและสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทำขึ้น ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นบนโลกเป็นระยะเวลา 20 ปี แต่ความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายและสัญญาสันติภาพอื่น ๆ ที่มีต่อประเทศเยอรมนี และประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ต้องสูญเสียดินแดนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ประกอบกับความเติบโตของระบอบเผด็จการและลัทธิทหาร มีการสะสมอาวุธร้ายแรง และองค์การสันนิบาตชาติไม่สามารถทำหน้าที่รักษาสันติภาพได้สำเร็จ ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย เยอรมนีล้มเลิกสัญญาแวร์ซายส์และผนวกออสเตรีย ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับอิตาลี ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ต่อมาเยอรมนีได้เข้ายึดครองเชโกสโลวาเกีย นอกจากนี้ ชาวอเมริกันต่างเบื่อหน่ายสงคราม ใช้นโยบายอยู่โดดเดี่ยว ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่เข้าไปแซกแทรกกิจการประเทศอื่น ไม่ยอมให้ผู้อื่นแทรกแซกประเทศของตน รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน
        ชนวนแห่งสงครามครั้งใหม่นี้มาจากการที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี และสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
        ในช่วงแรกของสงคราม เยอรมนีประสบผลสำเร็จในการรบโดยมีรัสเซียเป็นพันธมิตร อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงมากในคาบสมุทรบอลข่าน อิตาลีเข้าช่วยเยอรมนีในการยึดครองกรีซและยูโกสลาเวียในแอฟริกาเหนือ กองทัพเยอรมนีได้ยึดตริโปลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลิเบียและอียิปต์
        ฝ่ายรัสเซียที่เคยเป็นพันธมิตรของเยอรมนี แต่ต่อมารัสเซียขัดแย้งกับเยอรมนี จนทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจโจมตีรัสเซีย ด้วยการยกทัพเข้าบุกดินแดนโปแลนด์ด้านตะวันออกอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยชัยภูมิ อากาศที่หนาวเย็น รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือของต่างประเทศ รัสเซียจึงต่อต้านกองทัพเยอรมนีได้
        ในตอนต้นประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศวางตัวเป็นกลางถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการรุกรานของนาซีเยอรมัน แต่ต่อมาสหรัฐอเมริกาประกาศทำสงครามกับญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นเข้าโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ และบุกยึดประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ประเทศในแอฟริกาใต้ และอีกหลายประเทศ ประกาศสงครามตามสหรัฐอเมริกา ส่วนในทวีปยุโรป ประเทศฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรียได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจน 2 กลุ่ม คือ
        1.  กลุ่มอักษะ โดยมีประเทศเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น เป็นประเทศมหาอำนาจ
        2.  กลุ่มพันธมิตร โดยมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศมหาอำนาจ





        กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อให้สงครามยุติโดยเร็วที่เมืองฮิโระชิมะและเมืองนางาซากิ  จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อสงคราม สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติ

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 2

        1.    ระบอบฟาสซิสต์ในเยอรมนี อิตาลีสิ้นสุดลง
        2.    มีความเสียหายทั้งทหาร และพลเรือนตายเป็นจำนวนมาก มีผู้บาดเจ็บและพิการ รวมทั้งเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างมหาศาล
        3.    เกิดปัญหาลี้ภัยและคนไร้ที่อยู่นับล้าน
        4.    ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก
        5.    ชัยชนะของลัทธิชาตินิยม ทำให้มีการก่อตั้งประเทศใหม่ ๆ อีกหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
        6.    ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศประชุมกันที่ซานฟรานซิสโกเพื่อร่างกฎบัตรสหประชาชาติ

สงครามโลกครั้งที่ 1



วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น

      เป็นสงครามที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจของยุโรป 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอิตาลี กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ในระหว่างสงครามแต่ละฝ่ายต่างมีประเทศร่วมเป็นพันธมิตรด้วย

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1

    1.  ลัทธิชาตินิยม

              ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดชาตินิยมหรือความเป็นชาติ หมายถึง ความรักชาติเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชนชั้นกลางเข้ามามีบทบาททางการเมือง การปกครอง ต้องการพัฒนาชาติของตนให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งการปฏิวัติของชาวอเมริกันที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ และการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ส่งเสริมให้ความเป็นชาติเกิดขึ้น และต้องการพัฒนาชาติของตนให้เจริญก้าวหน้า
               ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จักวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนได้ล่มสลายลง ทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในยุโรป บางจักรวรรดิมีคนหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน เช่น จักรวรรดิออสเตรีย มีทั้งชนชาติเยอรมัน โปแลนด์ อิตาเลียน เช็ก สโลวัก สลาฟ แมกยาร์ และยิว ส่วนบางชนชาติถูกแยกไปอยู่ต่างอาณาจักรกัน ทำให้เกิดความต้องการแยกเป็นเอกราชตามกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งได้นำไปสู่การทำสงครามระหว่างกัน เช่น สงครามอิสรภาพกรีก การรวมชาติอิตาลี การรวมชาติเยอรมัน ดังนั้นหลายเชื้อชาติที่ยังอยู่รวมกับเชื้อชาติอื่นหรือตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างเชื้อชาติ จึงมีความพยายามที่จะแยกดินแดนเป็นเอกราช ในดินแดนอาณานิคม ชาวอาณานิคมที่ได้รับการศึกษา เห็นว่าประเทศจักรวรรดินิยมได้กอบโกยความมั่งคั่งจากประเทศของตน ขณะที่ชาวอาณานิคมอยู่อย่างแร้นแค้น จึงต่อต้านเมืองแม่ และปลุกกระแสประชานิยมในหมู่ประชาชน

    2.  การแข่งขันในยุคจักรวรรดินิยม

               ในยุคจักรวรรดินิยม มหาอำนาจตะวันตกต่างแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม จึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างประเทศหลายครั้งเพื่อแย่งชิงดินแดน และผลประโยชน์ในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ทั้งประเทศตะวันตกกับประเทศอาณานิคม และระหว่างประเทศตะวันตกด้วยกันเอง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันสะสมอาวุธ และเสริมสร้างแสนยานุภาพทางบก และทางเรือ สร้างฐานที่มั่นทางการทหารตามจุดยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นฐานทัพคอยปกป้องอาณานิคมของตนซึ่งเป็นผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างหวาดระแวง และเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม

    3.  ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจกับชาติมหาอำนาจ

               ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีสาเหตุมาจากการแข่งขันกันทางการเมืองที่จะเป็นผู้นำ และแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เช่น
                -  สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย เกิดจากการที่ฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้เยอรมนีรวมชาติ เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อฝรั่งเศส ผลของสงครามคือ ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต้องทำสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt) ต้องสูญเสียดินแดนอัลซาซ-ลอเรน (Alsace-Lorraine) ที่อุดมด้วยแร่เหล็ก และจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก

                -  ความขัดแย้งระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซียในการขยายอิทธิพลในดินแดนยุโรปตะวันออกและแหลมบอลข่าน เนื่องจากออสเตรียครอบครองฮังการี ทรานซิลเวเนีย โครเอเชียและสลาโวเนีย สิทธิในการคุ้มครองคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ และมีนโยบายรวมกลุ่มสลาฟ เรียกว่า “อุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ” (Pan-Slavism) ดังนั้นเมื่อพวกสลาฟในบอสเนียได้ก่อกบฏขึ้น รัสเซียจึงประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน สงครามยุติลงโดยรัสเซียเป็นฝ่ายชนะ ต่อมาออสเตรีย-ฮังการี ผนวก  ดินแดนที่มีชาวสลาฟใน 2 แคว้น คือ บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีเป็นของตน เซอร์เบีย และรัสเซียจึงยุยงให้พวกสลาฟ  ก่อกบฏขึ้น เกิดวิกฤตการณ์บอสเนียขึ้น และหลังจากการเจรจาวิกฤตการณ์จึงสิ้นสุดลง แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงมีอยู่

                -  ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี เกิดขึ้นเนื่องจากเยอรมนีเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหารเพิ่มขึ้น

    4.  มหาอำนาจแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

               ความขัดแย้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจทำให้ชาติมหาอำนาจทางตะวันตกต่างแสวงหาพันธมิตร เริ่มด้วยเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการี ได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีทวิภาคี โดยทั้งคู่สัญญาว่าจะช่วยเหลือกันและกัน หากถูกอดีตสหภาพโซเวียตโจมตี สัญญาฉบับนี้ขยับเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคี โดยรวมอิตาลีเข้ามาด้วย กลุ่มพันธมิตรนี้ต่อมาเรียกว่า มหาอำนาจกลางเพราะประเทศสมาชิกตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ส่วนอดีตสหภาพโซเวียตกับฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร เพราะต่างเกรงว่าเยอรมนีจะเข้าข้างออสเตรีย-ฮังการี ที่กำลังแข่งขันอำนาจกับอดีตสหภาพโซเวียต อนุสัญญานี้ได้ขยายเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีกับฝรั่งเศส-รัสเซีย อังกฤษทำสัญญาความตกลงไตรภาคีระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย กลุ่มพันธมิตรนี้ถูกเรียกว่าฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร (ฝ่ายสัมพันธมิตร) ในสงครามโลกครั้งที่ 1

สาเหตุและชนวนสงคราม

        เกิดจากความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่มีมูลเหตุมาจากลัทธิชาตินิยมของชนชาติต่าง ๆ การแข่งขันแสวงหาอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจยุโรป และการที่มหาอำนาจแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน
        โดยชนวนสงครามเกิดเมื่อรัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี คือ อาร์ชดยุค ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์    ถูกลอบปลงพระชนม์ที่กรุงซาราเยโวในบอสเนีย ทำให้ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ส่งผลให้รัสเซียเข้าช่วยเซอร์เบีย ต่อมาเยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษก็ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัมพันธมิตรของตนคือเข้าร่วมกับรัสเซีย เยอรมนียกทัพบุกเบลเยียมเพื่อโจมตีฝรั่งเศส นอกจากนี้ลัทธิการทหารทำให้ประเทศต่าง ๆ พยายามสะสมอาวุธ รวมทั้งประชาชาติต่าง ๆ พยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด และใช้สงครามในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

       การรวมกลุ่มพันธมิตรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

        1.  กลุ่มไตรพันธมิตร ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี (ในระหว่างสงครามนั้น อิตาลีได้ประกาศตัวเป็นกลาง) ผู้นำสำคัญคือ บิสมาร์คแห่งเยอรมนี เรียกว่า กลุ่มมหาอำนาจกลาง
        2.  กลุ่มไตรภาคี ประกอบด้วย รัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ เรียกว่า กลุ่มมหาอำนาจตะวันตก
        สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ขยายออกไปทั่วโลก ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอมนีเพื่อหวังจะได้ครอบครองอาณานิคมของเยอรมนีในมหาสมุทรแปซิฟิก ตุรกีได้เข้าร่วมกับมหาอำนาจกลาง อีก 1 ปี ต่อมาบัลแกเรียก็เข้าข้างเยอรมนี กลุ่มประเทศบอลข่านเข้ากับประเทศฝ่ายตะวันตก สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกตะวันตกได้เข้าร่วมสงคราม เพื่อช่วยฝ่ายประชาธิปไตย คือ อังกฤษและฝรั่งเศส





        จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในครั้งนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไตรพันธมิตรหรือมหาอำนาจกลางมาก่อน แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นอิตาลีได้ประกาศนโยบายความเป็นกลาง แต่ต่อมาภายหลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้สัญญากับอิตาลีว่าจะยกพื้นที่บางส่วนของออสเตรีย-ฮังการีให้ (ดินแดนไทรอลใต้ จูเลีย-  สมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งของดัลมาเทีย) หากอิตาลีเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายตน ทำให้อิตาลีกลับ  ตัดสินใจประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2458 ความตกลงระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับอิตาลีครั้งนี้ทำให้เกิดการลงนามใน “สนธิสัญญาลอนดอน” ขึ้น และในที่สุดอิตาลีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมกับฝรั่งเศส-รัสเซีย อังกฤษ

การสร้างสันติภาพภายหลังสงครามครั้งที่ 1

        ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ที่ประกอบด้วย เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึก เรียกว่า “สนธิแวร์ซายส์” โดยมีเงื่อนไขหลายประการดังนี้
        1.  ดินแดน ฝ่ายพ่ายแพ้ต้องสูญเสียดินแดนและอาณานิคม
        2.  การทหาร ฝ่ายพ่ายแพ้สงครามถูกลดกำลังทหารและจำกัดอาวุธยุทโธปกรณ์
        3.  เศรษฐกิจ ฝ่ายพ่ายแพ้ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก
        ผลจากการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ทำให้เกิดประเทศใหม่ เช่น โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และยูโกสลาเวีย อิตาลีได้รับดินแดนเพิ่ม ออสเตรียและฮังการีถูกลดอาวุธ และชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม บัลแกเรียต้องเสียดินแดน ถูกปลดอาวุธ และต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม นอกจากนี้การปกครองแบบประชาธิปไตยแพร่หลายมากขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญในโลก การเคลื่อนไหวแบบสันติได้ดำเนินไปโดยการก่อตั้งสันนิบาตชาติ และศาลโลก แต่องค์การเหล่านี้ต้องล้มเหลว ไม่สามารถที่จะธำรงสันติภาพไว้ได้

        สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจต่อยุโรปหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียกำลังคน และสถานที่ต่าง ๆ ถูกทำลาย ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต้องเก็บภาษีอย่างหนักเพื่อบูรณะประเทศหลังสงครามเสร็จสิ้น การตั้งรัฐใหม่ในยุโรป ทำให้การค้าโลกต้องล่มจม ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทางยุโรป ส่วนทางด้านสังคม มีการเสียชีวิต การบาดเจ็บ การถูกจับ การสูญหาย รวมทั้งเกิดปัญหาความยากจน ความหิว และโรคระบาดไปทั่งทั้งยุโรป

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ทดสอบ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น         กา...