การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance)
วัตถุประสงค์ : จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น
สาเหตุของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
- การฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้า ทำให้ยุโรปโดยเฉพาะอิตาลีเจริญมั่งคั่งมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้ความคิดของชาวยุโรปที่มีต่อกฏข้อบังคับของคริสต์ศาสนาเปลี่ยนไปและเริ่มเข้าใจว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองได้ ชาวอิตาลีได้หันความสนใจปัจเจกชนนิยมและคติทางโลก
- นอกจากนี้ยังเกิดความเสื่อมศรัทธาในสถาบันคริสต์ศาสนา เพราะพบเห็นการซื้อขายตำแหน่งสมณศักดิ์ของบาทหลวง ความเป็นอยู่ที่หรูหราและฟุ่มเฟือยของบาทหลวง ประกอบกับการรับวัฒนธรรมตะวันออกในสงครามครูเสดทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้งานเขียนและวรรณกรรมของกรีกและโรมันโบราณกันอย่างกว้างขวาง
- ผู้ที่สนใจศึกษางานคลาสสิคของสมัยโบราณเรียกว่า
พวกมนุษยนิยม (Humanist) ซึ่งเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีสติปัญญา ความสามารถและความมีเหตุผล เน้นการสร้างความสุขและความสำเร็จของชีวิตด้วยตนเอง อันเป็นค่านิยมแบบใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเจ้านครในอิตาลี เช่น ฟลอเรนซ์
โรม และเวนิส ทำให้มีการนำวรรณกรรมและปรัชญา
ของกรีกแปลเป็นภาษาละตินเผยแพร่ในยุโรปได้กว้างขวางมากขึ้น
ผลงานในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ
ด้านศิลปกรรม
ผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมได้สืบทอดความนิยมของศิลปะแบบคลาสสิคของกรีกและโรมันที่สร้างศิลปะเป็นธรรมชาติคือ การให้ความสนใจต่อความสวยงามของสรีระของมนุษย์ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ศาสนาและเทพนิยายดั้งเดิมเป็นเค้าเรื่อง แต่ได้บรรยายด้วยทัศนะและวิธีการของโลกสามัญธรรมดา สิ่งเหล่านี้แสดงออกอย่างเด่นชัดมากในงานของจิตรกรชาวอิตาลี เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี (Michelangelo Buonarroti) และราฟาเอล ซันซีโอ (Raphael Sanzio)
ลีโอนาร์โด ดาวินชี ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาศิลปิน” เนื่องจากเป็นศิลปินที่มีความรู้ในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยนำความรู้ด้านต่างๆ มาถ่ายทอดในงานจิตรกรรมได้เป็นอย่างดี ผลงานที่สำคัญ ได้แก่
ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper )
ภาพโมนา ลิซา (Mona Lisa)
มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี เป็นศิลปินที่โด่งดังด้านประติมากรรม ผลงานที่สำคัญเป็นรูปสลักผู้ชายแสดงสัดส่วนของกล้ามเนื้อร่างกาย เช่น รูปสลักเดวิด (David) รูปสลักลาปิเอตา (La Pieta)
ซึ่งเป็นรูปสลักพระมารดากำลังประคองพระเยซู หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว และจิตรกรรมฝาผนังที่เพดานและฝาผนังของโบสถ์ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
ด้านวรรณกรรม
วรรณกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีกรีก-โรมันผ่านมาทางอิตาลีและแผ่ขยายไปในประเทศต่างๆ ในยุโรป นักเขียนสมัยนื้ได้ยึดแนวทางมนุษยนิยม ใช้ภาษาละตินสะท้อนความคิดต่อต้านแนวคิดขนบนิยมของคริสต์ศาสนา ผสมผสานกับแนวคิดปรัชญากรีก-โรมัน
งานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดในการต่อต้านคริสต์ศาสนาหรือแสดงออกถึงปรัชญาทางการเมือง เช่น
- เรื่องเดคาเมรอน (Decameron) ของโจวันนี บอกกัชโซ (Giovanni Boccaccio) เป็นเรื่องเสียดสีสังคม
- เรื่องเจ้าผู้ปกครอง (The Prince) ของนิคโคโล
มาเคียวัลลี (Niccol Machiaveli) ซึ่งอธิบายลักษณะของผู้ปกครองว่าต้องมีอำนาจและใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครอง - เรื่องยูโทเปีย (Utopia) ของเซอร์โทมัส มอร์
(Sir Thomas More) กล่าวถึงเมืองในอุดมคติที่มนุษย์ในสังคมมีความสุข
ส่วนงานบทละครนั้นได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน นักประพันธ์คนสำคัญ คือ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ผู้แต่งเรื่องโรมิโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) และเวนิสวาณิช (the merchant of Vinice) ซึ่งเป็นบทละครที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์และความรู้สึก
ผลกระทบของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ
การฟื้นฟูศิลปวิทยาการมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การปกครองของยุโรปเป็นอย่างมาก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้หลักเหตุผลแทนความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ชาวยุโรปยังแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้การศึกษาขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในยุโรป มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญ คือ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ทำให้ความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง
แพร่หลายไปทั่วยุโรป การประดิษฐ์เข็มทิศและอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะปืนใหญ่ ทำให้ยุโรปก้าวเข้าสู่การแสวงหาดินแดนในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาเป็นอาณานิคม รวมทั้งทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน